การรักษาความปลอดภัย (Security) ของ แอล_อัล

เนื่องจาก สายการบินแอล อัล ตกเป็นเป้าหมายในการก่อการร้ายมานานหลายทศวรรษ ทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของ แอล อัล จำต้องปฏิบัติหน้าที่ด้านการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั้งบนพื้นดินและบนอากาศยาน จึงเกิดกระแสวิจารณ์ความไม่สะดวกในการใช้บริการ และเป็นประเด็นถกเถียงในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด[4] แต่อย่างไรนั้นความมีชื่อเสียงด้านมาตรการรักษาความปลอดภัย ทำให้ แอล อัล ได้รับรางวัลสายการบินที่มีมาตราฐานการรักษาความปลอดภัยสูงที่สุดในโลก ในปี ค.ศ. 2008 จากนิตยสาร "โกลบอล แทรเวลเลอร์"[5]

มาตรการการรักษาความปลอดภัยในสนามบิน

สายการบินกำหนดให้ผู้โดยสารต้องรายงานตัวสามชั่วโมงก่อนออกเดินทาง อาคารผู้โดยสารของแอล อัล ทั่วโลกมีการเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและกำลังทหาร ตำรวจ ติดอาวุธครบมือออกตรวจตราวัตถุระเบิด บุคคลผู้มีพฤติกรรมที่น่าสงสัย และภัยคุกคามอื่นๆ กระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียด ผู้โดยสารทุกคนจะต้องผ่านการสอบถามคำถามด้านการรักษาความปลอดภัย จากเจ้าหน้าที่ถึงสาเหตุในการเดินทางเพื่อประเมินความเสี่ยง โดยเจ้าหน้าที่มักจะถามว่า ผู้โดยสารมาจากไหน มีเหตุผลอะไรในการเดินทาง ตลอดจนถามถึงอาชีพการงาน และสอบถามถึงสัมภาระของผู้โดยสารว่าเป็นผู้บรรจุเองหรือไม่

ที่เคาเตอร์เช็คอินผู้โดยสารทุกคนจะต้องผ่านการตรวจสอบบัตรโดยสารและหนังสือเดินทางอย่างละเอียดโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสายการบิน ผู้ที่ยังมิได้ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยอาจถูกปฏิเสธไม่ให้เช็คอิน ที่ด่านตรวจหนังสือเดินทางเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบชื่อและนามสกุลของผู้โดยสารโดยใช้ฐานข้อมูลของ สำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา, สำนักข่าวกรองความปลอดภัยแคนาดา, สก็อตแลนด์ยาร์ด, สำนักความปลอดภัยอิสราเอล และองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ สัมภาระผู้โดยสารจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดและบางครั้งอาจต้องตรวจสอบด้วยมือ นอกจากนี้สัมภาระความเสี่ยงสูงต้องผ่านการเข้าห้องปรับความดันเพื่อทดสอบหาระเบิดแสวงเครื่องที่ทำงานโดยอาศัยหลักความกดอากาศหรือความดันขณะบิน[6] แม้จะเป็นสนามบินในต่างประเทศเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยของสายการบินก็ยังทำการตรวจสอบสัมภาระเองทั้งหมด[7]

มาตรการความปลอดภัยบนเที่ยวบิน

ในทุกเที่ยวบินระหว่างประเทศจะมีแอร์ มาร์แชลหรือเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบซุกซ่อนอาวุธแฝงตัวไปกับผู้โดยสาร[8] นักบินส่วนใหญ่ของแอล อัล จะเป็นอดีตนักบินของกองทัพอากาศอิสราเอล[9] ห้องนักบินได้ติดตั้งประตูนิรภัยแน่นหนาสองชั้น เพื่อป้องกันบุคคลไม่ได้รับอนุญาตเข้าห้องนักบินและมีระบบรหัสลับสำหรับการผ่านเข้าออก ประตูห้องนักบินที่สองจะเปิดได้ก็ต่อเมื่อประตูที่หนึ่งปิดแล้วเท่านั้น บุคคลที่จะเข้าห้องนักบินทุกคนจะต้องรับการตรวจค้นจากกัปตันเครื่องหรือผู้ช่วยนักบินที่หนึ่ง พื้นห้องโดยสารได้รับการเสริมเหล็กกล้าเพื่อป้องกันระหว่างห้องโดยสารกับห้องสัมภาระ[10]

จากเหตุการลอบโจมตีอากาศยานของอิสราเอลในปี 2002[11] ทำให้อากาศยานบางลำ(ขึ้นกับระดับภัยคุกคามของเส้นทางการบิน)ของแอล อัล ได้รับการติดตั้งระบบต่อต้านจรวดนำวิถีด้วยอินฟราเรด (IRCM) เรียกว่า"ไฟลท์การ์ด"[12][13][14][15] ซึ่งพัฒนาโดยบริษัทอุตสาหกรรมการบินอิสราเอล เพื่อป้องกันตัวจากขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ

แหล่งที่มา

WikiPedia: แอล_อัล http://archives.cnn.com/2001/WORLD/meast/09/26/rec... http://edition.cnn.com/2002/WORLD/meast/07/04/el.a... http://edition.cnn.com/2004/WORLD/meast/05/24/air.... http://www.defensenews.com/story.php?F=1540304&C=a... http://www.haaretz.com/hasen/pages/ShArt.jhtml?ite... http://fr.jpost.com/servlet/Satellite?cid=12022463... http://www.nytimes.com/1999/03/05/business/el-al-a... http://www.usatoday.com/news/sept11/2001/10/01/ela... http://www.usatoday.com/travel/flights/2006-05-12-... http://www.elal.co.il